วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ระบบการจัดซื้อ


3.การจัดซื้อและการบริหารสินค้าคงคลัง (Purchasing  &  Inventory  Management)
การจัดซื้อ  (Purchasing)
                 ในการผลิตสินค้าขององค์การอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ  จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีวัตถุดิบหรือพัสดุต่าง ๆ  อย่างเพียงพอไม่น้อยเกินไปหรือมากเกินไป  เพราะถ้าหากมีวัตถุดิบน้อยเกินไปอาจทำให้วัตถุดิบขาดมือ  และถ้าหากมีวัตถุดิบมากเกินไป  จะทำให้มีค่าจ่ายสูงเกินความจำเป็น  และจะส่งผลต่อราคาสินค้าต่อหน่วยที่จะมีราคาสูงตามด้วย  ในทางการบริหารจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้วัตถุดิบมีเพียงพอต่อการผลิต การจัดซื้อและการบริหารเกี่ยวกับสินค้าคงคลัง  จึงเป็นงานหลักอย่างหนึ่งในการประกอบธุรกิจ
                  ความหมายของการจัดซื้อ  (Define  of  purchasing)
                  การจัดซื้อ  (Purchasing)  หมายถึง  การดำเนินงานตามขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบ  วัสดุ  และสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จำเป็นโดยมีคุณสมบัติ  ปริมาณ  ราคา  ช่วงเวลา  แหล่งขาย  และการนำส่ง    สถานที่ถูกต้อง  (ปราณี  ตันประยูร, 2537 : 137)
                  วัตถุประสงค์ของการจัดซื้อ  (Objective  of  Purchasing)
    1.  เพื่อให้มีวัตถุดิบและวัสดุอื่น ๆ ในการผลิตอย่างเพียงพอ
    2.  เพื่อรักษาคุณสมบัติของวัตถุดิบที่จัดซื้อให้ได้มาตรฐานเดียวกัน
    3.  เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียหาย และความล้าสมัยวัตถุดิบ
    4.  เพื่อให้กิจการมีกำไร  มีต้นทุนในการจัดซื้อต่ำวัตถุดิบที่ใช้เพียงพอ
    5.  หลีกเลี่ยงปัญหาพัสดุซ้ำกัน
 กลยุทธ์การจัดซื้อ
                  ในการจัดซื้อวัสดุนั้น  บริษัทเป็นฝ่ายผู้ซื้อ  เจ้าของแหล่งวัสดุเป็นฝ่ายผู้ขาย  ฝ่ายใดมีอำนาจการ  ต่อรองสูงฝ่ายนั้นจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ  เพื่อป้องกันมิให้เสียเปรียบบริษัทจึงต้องพยายามรักษาดุลยภาพของอำนาจในการต่อรองเอาไว้  ซึ่งอาจทำได้หลายวิธีดังต่อไปนี้
                1.  การกระจายการจัดซื้อวิธีหนึ่งในการป้องกันมิให้อำนาจในการต่อรองต่ำกว่าผู้ขายได้แก่การกระจายการจัดซื้อไปยังผู้ขายที่ผ่านการคัดเลือกแล้วหลาย ๆ ราย  ปริมาณการสั่งซื้อที่กระจายให้แก่ผู้ขายแต่ละรายต้องมากพอที่จะทำให้เห็นคุณค่าว่าควรติดต่อค้าขายกับผู้ซื้อในระยะยาว   ขณะเดียวกันถ้าฝ่ายผู้ขายเสนอให้ส่วนลดเพราะซื้อจำนวนมาก  ก็ควรนำเข้ามาประกอบการพิจารณาการจายการซื้อด้วย  การกระจายการซื้อนั้น   นอกจากจะป้องกันมิให้อำนาจในการต่อรองตกต่ำแล้วยังอาจทำให้มีอำนาจนี้เพิ่มขึ้นอีกก็ได้
              2.  การสร้างแหล่งซื้อเพิ่มเติม  วิธีนี้นิยมนำมาใช้ในกรณีบริษัททำการประเมินคุณสมบัติต่าง ๆ แล้วปรากฏว่ามีผู้ขายผ่านเกณฑ์การประเมินได้จำนวนน้อย  การใช้กลยุทธ์การกระจายการซื้อไม่ให้ความมั่นใจเท่าที่ควร  จึงจำเป็นต้องสร้างแหล่งซื้อเพิ่มเติมขึ้นมา  ซึ่งอาจทำได้หลายวิธี  เช่น  ให้คำแนะนำทางเทคนิคแก่ผู้ขายที่ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินเนื่องจากเกณฑ์ทางด้านคุณภาพแต่มีศักยะว่าจะปรับปรุงได้  ทำสัญญาซื้อล่วงหน้ากับผู้ขายที่ฐานะทางการเงินไม่มั่นคงพอที่จะลงทุนผลิตวัสดุมาส่งมอบให้ตรงเวลา  เป็นต้น

                  3.  การหลีกเลี่ยงต้นทุนการเปลี่ยนแหล่งซื้อ  ผู้ขายหลายรายใช้วิธีให้ความช่วยเหลือทางด้านวิศวกรรม  เครื่องจักร  หรือทางด้านอื่น ๆ  โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพื่อให้ฝ่ายผู้ซื้อตกเป็นทาสทางเทคนิคหรือระบบการผลิต  เพราะความช่วยเหลือเช่นว่านั้นทำให้ต้องซื้อวัสดุเกี่ยวเนื่องอื่น ๆจากผู้ให้ความช่วยเหลือนั่นเองเมื่อได้รับข้อเสนอให้เปล่าในทำนองนี้ฝ่ายผู้ซื้อต้องพิจารณาโดยรอบคอบเพราะอาจก่อให้เกิดต้นทุนอย่างมหาศาลในอนาคตได้
                4.  การกำหนดมาตรฐานวัสดุผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นมาตรฐานเดียวกันจะมีเกณฑ์กำหนดตรงกันเสมอ  สามารถใช้แทนกันได้  ถ้าผู้ประกอบการทุกรายที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน   สามารถกำหนดมาตรฐานวัสดุร่วมกันออกมาได้   จะทำให้อำนาจต่อรองของฝ่ายผู้ขายแต่ละรายลดลงมาในระดับหนึ่ง  เพราะทางฝ่ายผู้ซื้อจะซื้อจากผู้ขายรายใดก็ได้  เนื่องจากวัสดุใช้แทนกันได้   อีกทั้งต้นทุนการเปลี่ยนแหล่งซื้อไม่มี
                 5.  การรวมตัวย้อนหลัง  เป็นลักษณะของการขยายธุรกิจแบบหนึ่ง  วิธีการคือ  ก้าวจากการเป็นผู้ผลิตอยู่เดิมไปเป็นเจ้าของแหล่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอีกธุรกิจหนึ่ง  วิธีนี้ย่อมทำให้อำนาจต่อรองของฝ่ายผู้ขายลดลงเพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มแหล่งซื้อของฝ่ายผู้ซื้อแล้วยังเป็นการเพิ่มคู่แข่งขันแก่ฝ่ายผู้ขาย  วิธีแม้จะผลิตวัตถุดิบเองบางส่วน  ซื้อจากผู้ขายบางส่วน  ก็ยังเป็นวิธีที่มีประสิทธิผล     บางครั้งแม้แต่เพียงการศึกษาโครงการที่จะก้าวเข้าไปเป็นเจ้าของแหล่งวัตถุดิบอย่างเปิดเผย  ก็อาจเป็นการป้องปรามพฤติกรรมการขายที่ไม่ดีของฝ่ายผู้ขายได้
                6.  การเร่งรัดการจัดซื้อ  เป็นการแสดงให้ฝ่ายผู้ซื้อได้ติดตามตรวจสอบและประเมินการดำเนินงานของฝ่ายผู้ขาบอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา  ทำให้ฝ่ายผู้ขายไม่กล้าบิดพลิ้ว  วิธีนี้ใช้กันมากในกรณีจ้างทำของที่มีเกณฑ์กำหนดแตกต่างไปจากมาตรฐานในท้องตลาด  เช่น  จ้างให้ผลิตเครื่องจักรที่ออกแบบเป็นพิเศษ  ฝ่ายผู้ซื้อจะส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปติดตามผลถึงสถานที่ผลิตเลยทีเดียว  ทั้งนี้เพื่อความมั่นใจว่า
           -  คำสั่งซื้ออย่างเป็นทางการได้ไปถึงผู้ขายแล้ว  และกำลังมีการจัดการตามใบสั่งซื้อนั้น
           -  หากเป็นการจ้างทำของ  ต้องแน่ใจว่าผู้รับจ้างได้สั่งให้โรงงานทำการผลิตแล้ว  โดยผู้เร่งรัดการจัดซื้ออาจขอเลขที่ใบสั่งงาน  ชื่อผู้ควบคุมการผลิตและสถานที่ติดต่อ   เพื่อใช้อ้างอิงและติดต่อสอบถามความก้าวหน้าของงาน
          -  ฝ่ายผู้ขายไม่มีอุปสรรคใด ๆ มาขัดขวางจนต้องระงับการดำเนินการตามใบสั่งซื้อไว้แม้ชั่วคราว  ทั้งนี้เพื่อความมั่นใจว่าฝ่ายผู้ซื้อจะได้รับสิ่งของตามกำหนดเวลา
                     -  ความก้าวหน้าของงานเป็นไปตามที่กำหนดไว้ทุกประการ  ผู้ที่จะเร่งรัดการจัดซื้อได้ดี  ต้องมีความรู้ความสามารถ  มีความแยบยลในการเจรจา  และมีความกล้าพอที่จะแนะนำผู้ขาย  ให้จัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
                  

 ความรับผิดชอบของแผนกจัดซื้อ  (Responsibility  of  purchasing  section)
                   เมื่อองค์การมีความจำเป็น  ที่จะต้องมีการซื้อ  (Purchasing)  แผนกจัดซื้อหรือแผนกจัดซื้อ  จะต้องพยายามจัดซื้อให้ดีที่สุด  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการจัดซื้อ  โดยการจัดซื้อที่ดีที่สุดจะต้องคำนึงถึงประเด็นสำคัญ  ดังนี้
    1.  คุณสมบัติที่ถูกต้อง
    2.  ปริมาณที่ถูกต้อง
    3.  ราคาที่ถูกต้อง
    4.  ช่วงเวลาที่ถูกต้อง
    5.  แหล่งขายที่ถูกต้อง
    6.  การนำส่งที่ถูกต้อง
                   วิธีปฏิบัติในการจัดซื้อ  (Procedure  in  purchasing)
                   การจัดซื้อวัสดุเพื่อนำมาใช้ในการผลิตและการดำเนินงานของธุรกิจเป็นภาระกิจที่ต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง  การปฏิบัติงานในช่วงหนึ่ง ๆ จะเกี่ยวพันกับการจัดซื้อหลาย ๆ รายการ  แต่ละรายมีความแตกต่างในด้านคุณสมบัติ  ราคา  จำนวน  แหล่งขาย  การปฏิบัติการจัดซื้อมีหลายขั้นตอน  แต่ละขั้นตอนมีเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก  ด้วยเหตุนี้การจัดซื้อจึงต้องใช้แรงงาน  เวลาและต้นทุนสูง การจัดระบบปฏิบัติในการสั่งซื้ออย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้การจัดซื้อดำเนินไปด้วยความคล่องตัว และถูกต้องเหมาะสม
                   ระบบปฏิบัติในการจัดซื้อของแต่ละกิจการย่อมแตกต่างกันไป  เนื่องจากแต่ละกิจการมีความแตกต่างกันไปในนโยบาย  สินค้าและบริการที่ผลิต  ทรัพยากรต่าง ๆ  ดังนั้นจึงไม่สามารถกำหนดรูปแบบที่ดีได้แน่นอนตายตัว   แต่โดยทั่วไประบบปฏิบัติในการจัดซื้อที่สมบูรณ์จะประกอบด้วยขั้นตอนพื้นฐาน  ดังนี้  (อ้างจาก  จุลศิริ  ศรีงามผ่อง, 2536, หน้า 6-7) 
                 1.  รับการวิเคราะห์ใบขอให้ซื้อ  (Purchase  Requisition)  ซึ่งจะวิเคราะห์ถึงประเภทของสิ่งของและจำนวนที่ซื้อ
                 2.  ศึกษาถึงสภาตลาด  แหล่งที่จะจัดซื้อ  และผู้ขาย
                 3.  ส่งใบขอให้เสนอราคา  (Request  for  Quotations)  ไปยังผู้ขายหลาบ ๆ แหล่ง 
                 4.  รับและวิเคราะห์ใบขอให้เสนอราคาจากผู้ขาย
                 5.  เลือกผู้ขายที่เสนอราคาและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ดีที่สุด
                 6.  คำนวณราคาของสิ่งของที่จะสั่งซื้อให้ถูกต้อง
                 7.  ส่งใบสั่งซื้อ  (Purchase  Order)  ไปยังผู้ขายที่ต้องการจะซื้อ
                 8.  ติดตามผลให้เป็นไปตามที่ได้ติดต่อหรือตามสัญญา
                 9.  วิเคราะห์รายงานการรับรองของ
                10. วิเคราะห์และตรวจสอบใบกำกับสินค้า  (Invoice)  ของผู้ขายเพื่อการจ่ายเงิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น